วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

Guilty Crown


Guilty Crown


Rate: 18+
Genre: Action
Studio: Production I.G
Debut: October 2011
Episode: 22

....หากเพื่อหาความหมายใหม่ให้ชีวิต


คุณจะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองสักแค่ไหน?....
          เมื่อคุณโหยหาการยอมรับจากมิตรสหาย จากคนที่คุณรัก จากคนที่คุณยอมรับและนับถือ คุณยินดีทำทุกสิ่งหรือไม่เพื่อให้ได้มันมา และในยามที่ความปรารถนานั้นหลุดลอยไปไกลสายตา หากคุณได้รับมาซึ่งพลังที่จะรั้งมันเอาไว้ คุณพร้อมจะแลกมันกับเลือดและหยดน้ำตาของคนรอบข้างหรือไม่ เพียงแค่เพื่อปกป้องสิ่งสำคัญของคุณไม่ให้มันถูกทำลายลงไป
                ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2029 วันคริสต์มาสอีฟที่ทั่วญี่ปุ่นจดจำในชื่อของ The Lost Christmas วันที่ญี่ปุ่นสูญเสียประชากรจำนวนมากไปจากการแพร่กระจายของไวรัสและเอกราชเพื่อยับยั้งไม่ให้ประชากรที่เหลืออยู่ย่อยยับตามไป
                สิบปีต่อมา เด็กหนุ่มอย่าง โอม่า ชู ได้พบกับไอดอลหญิงสาวที่เขาชื่นชม ยูสึริฮะ อิโนริ ผู้มอบพลังที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ รวมทั้งเป็นกุญแจไขอดีตที่ถูกลืม อดีตที่จะทำให้ชีวิตของเขาและคนรอบข้าง...
...เปลี่ยนแปลงไป


ตลอดกาล...
ดูเผินๆแล้ว Guilty Crown (จากนี้ไปจะขอเรียกย่อว่า กิลล์ตี้คราวน์)ก็เหมือนกันการ์ตูนแอคชั่นทั่วไปแต่กลับสามารถฉายด้านมืดของมนุษย์ออกมาในรูปแบบใหม่ๆได้อย่างแหวกแนวและน่าสนใจ เต็มเปี่ยมไปด้วยดราม่าและโศกนาฏกรรมจากการต่อสู้ในสนามรบที่หลักศีลธรรมความถูกผิดแทบจะไม่มีความหมาย นอกจากนั้นยังสามารถสร้างความกดดันให้กับผู้ชมเกือบตลอดเวลา และมีความสามารถที่จะกลายเป็นการ์ตูนชั้นดีได้อย่างไม่ยาก
 แต่กิลล์ตี้คราวน์ก็ไม่สามารถถีบตัวเองไปถึงฝั่งฝันได้ เนื้อเรื่องที่สามารถจบลงตั้งแต่ครึ่งแรกก็ถูกดึงให้ยืดออกไปทำให้เนื้อเรื่องในครึ่งหลังประสบปัญหาตามมา ถึงแม้ว่าจะน่าสนใจแต่กลับไม่น่าติดตาม ขาดความลึกซึ้งเมื่อเทียบกับเนื้อเรื่องในช่วงต้น ขาดเสน่ห์และความสดใหม่ และจากการที่ดำเนินเรื่องไปในทิศทางเดิมๆ รวมทั้งมีการรีไซเคิลพล็อตเก่าๆมาใช้...
...ก็ส่งผลให้เนื่อเรื่อง


ตกต่ำลงไปอย่างน่าเสียดาย...
กิลล์ตี้คราวน์มีตัวละครอยู่มากมาย และมีตัวละครหลักที่มีบทบาทโดดเด่นเหนือใครอยู่ไม่น้อยอย่าง อิโนริ หรือ ไก แต่การ์ตูนเรื่องนี้ก็ยังคงประสบปัญหาเช่นเดียวกันการ์ตูนที่มีตัวละครอยู่มากเรื่องอื่นๆคือการกระจายบทบาทได้ไม่ทั่วถึงไม่เท่าเทียม แม้ว่าจะโดดเด่นขึ้นมาได้ด้วยพล็อตหลักและรองของเรื่องแต่ก็ไม่เพียงพอ และการยืดเนื้อเรื่องทำให้บทบาทของตัวละครเด่นบางตัวไม่น่าจดจำจนถึงขั้นที่กลายเป็นตัวประกอบชั้นรองไป
ถึงกระนั้นตัวเอกอย่าง ชู ก็มีส่วนช่วยอยู่มาก นอกเหนือจากการเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว ชูยังทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของมนุษย์คนหนึ่งที่มีทั้งดีและชั่วปะปนกัน การเลือกทางเดินของเขาไม่ว่าผิดหรือถูก แต่ละครั้งก็ส่งผลให้เนื้อเรื่องมีมิติมากขึ้นและทำให้ตัวละครรองตัวอื่นๆโดดเด่นขึ้นมาเป็นผลพลอยได้ และสะท้อนอารมณ์ดิบของมนุษย์ อย่างความปรารถนา ความรู้สึกผิดชอบ ความหลงลืมตัวตน ความพลาดพลั้ง และ...
...การไถ่บาป


ออกมาได้อย่างงดงาม...
                งานศิลป์คืออีกหนึ่งจุดเด่นของกิลล์ตี้คราวน์ อนิเมชั่นการเคลื่อนไหวของตัวละครแต่ละตัว ฉากต่อสู้แต่ละฉาก การเคลื่อนที่ของอาวุธหรือวัตถุแต่ละอย่างต่างทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเทียบกับอนิเมชั่นของการ์ตูนเรื่องอื่นๆในช่วงเวลานั้น ฉากจำลองอนาคตอันใกล้ก็ดูสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ แม้จะเก็บรายละเอียดได้ไม่สมบูรณ์นัก และยังมีส่วนที่ขาดๆเกินๆ รวมทั้งยังมีจุดที่ดูขัดๆจากการผสานอนิเมชั่นแบบ 2D เข้ากับโพลีกอน 3D อยู่บ้าง แต่ทั้งสเปเชียลเอฟเฟกต์ งานศิลป์และอนิเมชั่นของกิลล์ตี้คราวน์...
...ก็ยังคู่ควร


ที่จะครองมงกุฏให้สมชื่ออยู่ดี...
                แต่ก็น่าเสียดายที่แม้ทั้งงานพากย์ ดนตรีประกอบฉาก และเสียงเอฟเฟกต์พิเศษทำออกมาได้ตามมาตรฐานแต่กลับไม่โดดเด่น เสียงปืนรัวกระหน่ำ เสียงกระทบกันของโลหะ เสียงลมที่พัดผ่านตามตึกร้าง เสียงฝนที่หลั่งไหลลงมา ล้วนแล้วแต่ธรรมดาหาความพิเศษไม่ได้และในบางครั้งฟังดูไม่สมจริง ส่งผลให้อารมณ์ร่วมกับการ์ตูนลดลงไประดับหนึ่ง
                กิลล์ตี้คราวน์ประสบกับปัญหาในเกือบทุกส่วนประกอบของตัวการ์ตูน ก่อให้เกิดจุดเสียมากมายจนอาจจะทำให้ผู้ชมบางส่วนเลือกจะเบือนหน้าหนีไป แต่ในช่วงครึ่งแรกนั้น กิลล์ตี้คราวน์มอบอารมณ์ทั้งบุ๋นบู๊ให้กับคอการ์ตูนแอคชั่น และเสริมมันด้วยไอเดียที่สดใหม่ ทั้งยังสามารถสร้างความกดดันและย้อมเนื้อเรื่องให้มืดมนจนถูกคอของผู้ชมบางกลุ่ม แถมด้วยตัวละครเอกที่น่าสนใจ ตัวละครเสริมที่ชวนให้หลงไหล และตราบาปในใจของมนุษย์นั้น...
...ได้ถูกดึงออกมาส่องสว่างกระจ่างตา


ดุจดั่งมงกุฏสีนิลของเหล่าฝูงกา...
N.Rei


Overall Score: 6/10
เนื้อเรื่อง 5.5/10 ตัวละคร 6.5/10 งานศิลป์ 8/10 งานเสียง 5.5/10

Higashi no Eden Aka Eden of the East


Higashi no Eden
Aka
Eden of the East


Rate: 18+
Genre: Adventure
Studio: Production I.G
Debut: April 2009
Episode: 11 + 2 Movie

ในการเปลี่ยนแปลงประเทศๆหนึ่งนั้น คุณต้องมีอะไรบ้าง เงินหรืออุดมการณ์ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน?หากคุณมีแล้วซึ่งอุดมการณ์ หากคุณคือผู้ที่ถูกเลือกจากคนนับหมื่นแสน คุณจะเปลี่ยนแปลงประเทศของคุณอย่างไร และคุณแน่ใจว่าจะยึดอุดมการณ์มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนได้หรือไม่...
หากคุณกำเงิน


เกือบหมื่นล้านไว้ในอุ้งมือ?
                ซาคิ โมริมิ และ อากิระ ทาคิซาว่า พบกันโดยบังเอิญที่ประเทศอเมริกา ภายใต้สถานการณ์ที่ค่อนข้างประหลาดผิดปกติ แต่ไม่นานนักหลังจากนั้นทั้งคู่ก็กลายมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทางและกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นด้วยกัน โดยที่ไม่รู้ตัวว่าการผจญภัยของพวกเขานั้นกำลังเริ่มต้นขึ้น
                ในขณะเดียวกันนั้น การกลับสู่ญี่ปุ่นของอากิระก็ทำให้เขากลับเข้าสู่ฐานะของผู้เล่นเกมหมายเลขเก้า เกมที่มอบเงินให้ผู้เล่นที่ถูกเลือกแต่ละคนเป็นจำนวนหนึ่งหมื่นล้าน เกมที่มีชีวิตของตัวเองและผู้คนทั้งประเทศเป็นเดิมพัน เกมที่จะเผยความจริงเบื้องหลังความทรงจำที่ถูกทิ้ง...
เกมที่จะเปลี่ยนให้คุณ


กลายเป็นผู้มาโปรดไป...
                Eden of the East นั้น(จากนี้ไปจะขอย่อว่า เอเด็น)เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ที่ถูกเลือกด้วยอำนาจและทุนทรัพย์ที่มีอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่เบื้องหลัง โดยใช้สังคมยุคปัจจุบันที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมของเยาวชนรุ่นใหม่เป็นเวทีหลัก บวกกับกลุ่มตัวละครหลักที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่มีอายุใกล้เคียงผู้ชมกลุ่มหลักและมีความคิดการกระทำใกล้เคียงกัน และมีฉากกับมุกตลกแทรกอยู่จำนวนหนึ่ง รวมทั้งสถานการณ์ในสังคมสมมุติที่มีความสมจริงน่าเชื่อถือ ทำให้เนื้อเรื่องของเอเด็นมีความรุนแรงน้อยลง มีความสมจริง ทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก และก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมได้ค่อนข้างง่าย
                ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะสื่อถึงจุดสำคัญอย่างการพัฒนาสังคมสมัยใหม่หรือการนำอุดมการณ์ส่วนตนมาปะทะกับความต้องการของสังคมออกมาในรูปแบบใหม่ๆได้อย่างน่าสนใจ แต่เอเด็นนั้นประสบกับปัญหาการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างกระชับและหย่อนยานจนเกินไปในบางจุด ทำให้เกิดความไม่ประติดประต่อขึ้นในความรู้สึกของผู้ชมโดยเฉพาะเมื่อเทียบภาคซีรี่ส์และเดอะมูฟวี่ ซึ่งก่อให้เกิดจุดผิดพลาดย่อยๆตามมาอีกหลายจุด ทั้งการที่การ์ตูนเน้นหนักในการใช้ความคิดอ่านของตัวละครแต่ละตัวในการต่อสู้กันเสียเกินครึ่งของเรื่องแทนที่จะใช้ฉากแอ็คชั่นแสดงพลังพิเศษแบบการ์ตูนแอ็คชั่นทั่วไป ทำให้ต้องคิดตามการกระทำของตัวละครอยู่ตลอดเวลาถึงจะได้อรรถรสครบถ้วน...
...และอาจไม่เหมาะนักหากท่านผู้ชม


ต้องการดูการ์ตูนเบาๆสบายๆไม่หนักสมอง...
                ตัวละครหลักของเอเด็นอย่างอากิระนั้น มีปริศนาอยู่มากมาย มีความคิดอ่านที่เป็นเอกเทศและมีบุคลิกลักษณะร่าเริงมองโลกง่ายๆ แต่กลับมีความตั้งใจที่แน่วแน่และมีปมในใจที่คลายไม่ออกอยู่ ทำให้เขากลายเป็นตัวละครหลักที่น่าสนใจ มีมิติและมีเสน่ห์ที่สุดในเรื่องไปโดยปริยาย นอกจากนี้ตัวละครหลักอย่าง ซาคิและผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆก็มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป บทสนทนาของตัวละครแต่ละตัวก็มักจะแฝงข้อคิดข้อความ และแสดงตัวตนของตัวละครตัวนั้นๆออกมาได้อย่างฉลาด
                กระนั้นเอเด็นก็ประสบกับปัญหาสามัญที่มักจะอยู่คู่กับการ์ตูนที่มีตัวละครมากเสมอๆ นั่นก็คือการกระจายบทบาทได้ไม่เท่าเทียมกัน ตัวละครหลักที่ควรจะมีบทบาทสำคัญอย่างผู้เข้าเล่นเกมบางคนก็มีบทบาทที่น้อยกว่าคนอื่น กระทั่งบางคนที่แทบจะไม่มีบทบาทเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้บทสนทนาของเอเด็นยังมีศัพท์เทคนิคอยู่ค่อนข้างมากซึ่งเข้าใจได้ยากสำหรับผู้ชมหลายๆกลุ่ม และแม้จะแฝงข้อความบางอย่างมาในบทสนทนาอย่างแนบเนียนแต่ถ้าหากพลาดคิดตามไม่ทัน...
...อาจจะทำให้คลาด


กับปมปริศนาบางอย่างไป...
                เมื่อผู้เขียนได้นั่งดูเอเด็นเป็นครั้งแรกนั้นก็ต้องพบกับความแปลกใจที่การ์ตูนที่มีลายเส้นง่ายๆเรื่องนี้กลับแฝงไว้ด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทั้งสิ่งของและฉากหลังซึ่งทำได้ดีกว่าที่คิดเอาไว้ การใช้แสงและมุมมองของกล้องก็อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เสียอารมณ์ ทั้งเอเด็นเองยังมีการผสมผสานวัตถุสามมิติกับลายเส้นการ์ตูนแบบสองมิติที่ทำได้ค่อนข้างดีและช่วยเพิ่มความแปลกตาให้กับฉากส่วนใหญ่แต่ก็มียังจุดที่ขัดตาอยู่บ้าง และการใช้สถานที่จริงในยุคอนาคตอันใกล้เป็นฉากหลักแทนที่จะเป็นฉากแนวแฟนตาซีหรือวิทยาศาสตร์ไซไฟ...
...ก็ช่วยให้ผู้ชมส่วนใหญ่


สามารถซึมซับบรรยากาศได้ง่ายกว่าเดิม...
                ถึงจะไม่มีอะไรให้พูดมากนักเมื่อมาถึงเรื่องของงานเสียงในเอเด็น ทั้งในส่วนของทีมนักพากย์ที่ยังไม่ค่อยมีผลงานและชื่อเสียงมากนักในขณะนั้นและในส่วนของดนตรีประกอบฉากที่ช่วยเสริมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี พูดได้ว่างานเสียงของเอเด็นนั้นก็ทำได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและด้อยการส่วนอื่นๆของเรื่องอยู่เพียงเล็กน้อย
                ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะประสบกับปัญหาประปรายและไม่เหมาะกับผู้ชมบางกลุ่มแต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของการ์ตูนเรื่องนี้ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย เอเด็นยังคงเป็นการ์ตูนแอ็คชั่นที่ไม่เน้นฉากต่อสู้บู๊ล้างผลาญ ยังเป็นการ์ตูนโรแมนซ์แบบอินดี้ ยังเป็นการ์ตูนผจญภัยตามหาเป้าหมายของอุดมการณ์ ยังเป็นการ์ตูนดราม่าที่ปรุงบทสนทนามาอย่างชาญฉลาด และเป็นสรวงสวรรค์แห่งตะวันออก...
ที่คุณห้ามพลาด


ในทุกกรณี
N.Rei
Overall: 8.0
Story: 7.5 / Character: 7.5 / Art & Animation: 8.5 / Sound: 7

มาทำความรู้จักกันเถอะ!!!


ขอแนะนำตัวอย่างเป็นทางการในการเปิดบล็อค มาทำความรู้จักกันเถอะ!!!


หากพูดถึงศิลปะแล้วย่อมมีอยู่มากมายหลายประเภท ถ้าผมขอให้ท่านผู้อ่านนึกภาพของรูปภาพหนึ่งรูปที่แขวนอยู่กลางห้องว่างๆสิ่งที่ท่านผู้อ่านเห็นคืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง แต่ถ้าผมให้ท่านผู้อ่านนึกถึงภาพการ์ตูนหรือเกมอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมจะเกิดภาพลักษณ์ด้านลบขึ้นมาก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? สิ่งที่ให้ความบันเทิงเหล่านี้กับศิลปะประเภทอื่นๆนั้นต่างที่ตรงไหน? ข้อเท็จจริงคือ ภาพยนตร์ เกม การ์ตูน และงานศิลปะประเภทอื่นๆทั้งแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย งานศิลปะประเภทภาพวาดคือการที่ผู้สร้างสรรค์งานหรือศิลปินถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมาผ่านภาพวาด และการ์ตูนอนิเมชั่นคือการเปลี่ยนภาพวาดนั้นให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมกับสอดแทรกบทสนทนาเข้าไปเพียงเท่านั้นเอง
                  ดังนั้นแล้วบทวิจารณ์ที่ผมเขียนขึ้นมานั้นไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนที่ดูการ์ตูนอนิเมชั่นอยู่แล้วแบบผู้เขียนบทวิจารณ์คนอื่นๆ หากแต่เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ต่อต้านหรือผู้ที่มีอคติกับการ์ตูนและผู้ที่ยังไม่เคยรับชมการ์ตูนอนิเมชั่นมาก่อนในสังคมไทยได้รับรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนั้นๆโดยไม่มีความเห็นบวกลบตามกระแสสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้ว่าแท้จริงแล้วอคติด้านลบในสังคมปัจจุบันนั้นมีความถูกต้องมากน้อยขนาดไหน
                ซึ่งในหัวข้อแรกที่ผมจะเจาะจงเขียนวิจารณ์นั้นคือในหัวข้อของการ์ตูนอนิเมชั่นเสียส่วนใหญ่ แม้การ์ตูนอนิเมชั่นจะเป็นที่รู้จักกันผิวเผินเพียงสิ่งที่ให้ความบันเทิงแก่เด็กเล็กๆก็ตาม แต่แท้จริงแล้วการ์ตูนและการ์ตูนอนิเมชั่นนั้นคือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มจินตนาการให้แก่เยาวชน สร้างเสริมความใฝ่รู้และส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมให้คนกลุ่มคนทุกเพศวัย และสร้างความบันเทิงให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสังคมมิตรสหายหรือครอบครัวอีกด้วย
                ในหนึ่งบทวิจารณ์ของการ์ตูนหนึ่งเรื่องนั้นผมจะแจกแจงรายละเอียดออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆสี่หัวข้อได้แก่ เนื้อเรื่อง ตัวละคร งานศิลป์และงานเสียง โดยจะจำแนกข้อดีข้อเสียออกมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอย่างคร่าวๆ และจะเขียนประเภทของการ์ตูนนั้นๆ เนื้อเรื่องโดยย่อ อายุเฉลี่ยที่สมควรจะรับชมจากการวิเคราะห์ผ่านความรุนแรงหรือเนื้อหาแฝงจากการ์ตูนเพื่อช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถรู้ตื้นลึกหนาบางก่อนจะตัดสินใจรับชมการ์ตูนเรื่องนั้นๆ
                อนึ่งคะแนนรวมที่ผมได้เขียนไว้ในท้ายบทวิจารณ์ทุกฉบับถือเป็นการให้คะแนนจากความเห็นส่วนบุคคล ดังนั้นขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านโปรดเข้าใจและใช้วิจารณญาณทุกครั้งในการอ่าน และเลือกดูการ์ตูนอนิเมชั่นให้เหมาะสมกับความชอบส่วนตัวของทุกท่านโดยที่ใช้คะแนนเป็นแค่ตัวประกอบการตัดสินใจในการรับชม และต้องขออภัยล่วงหน้า ณ ที่นี้หากงานวิจารณ์มีข้อผิดพลาดประกาใดซึ่งผมจะทำการปรับปรุงแก้ไขทั้งด้านคุณภาพและสำนวนการเขียนให้ดียิ่งขึ้นไปตามลำดับ
                N.Rei